วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บทความที่ 2 คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

สวัสดีท่านสมาชิกทุกท่านครับ ฉบับนี้ Mr.cpd มีข่าวร้อนๆมา Update ท่านสมาชิกเช่นเคยครับ ซึ่งถือว่าเกี่ยวข้องกับท่านผู้ทำบัญชีโดยตรง สืบเนื่องมาจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือในการแทรกเรื่อง “คุณธรรม จริยธรรม หรือจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพในการอบรม”  โดยทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีนโยบายที่จะปลูกฝังและเสริมสร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรม หรือจรรยาบรรณให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งจะทำให้การจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงินมีคุณภาพ ถูกต้องตามกฎหมาย และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาของวิชาชีพและประเทศชาติโดยรวม ดังนั้นทางสำนักบัญชีธุรกิจ จึงขอความร่วมมือจากทางสถาบันผู้จัด แทรกเรื่อง “คุณธรรม จริยธรรม หรือจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพในการอบรม” ในหลักสูตรการอบรมทุกหลักสูตรที่ใช้เวลาจัดอบรมเกิน 3 ชม. โดยใช้เวลาในการบรรยายในแต่ละหลักสูตรไม่น้อยกว่า 30 นาที สำหรับความหมายและคำจำกัดความ อ้างอิงจาก พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี 2547 ดังรายละเอียด
หมวด ๗



จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
               มาตรา ๔๖ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีหรือผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนตามมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการสอบบัญชี หรือมาตรฐานอื่นใดที่เกี่ยวข้องที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้

               บุคคลตามวรรคหนึ่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณหรือมาตรฐานที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าผู้นั้นประพฤติผิดจรรยาบรรณ

               มาตรา ๔๗ ให้สภาวิชาชีพบัญชีจัดทำจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีขึ้นเป็นภาษาไทย และอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้

               (๑) ความโปร่งใส ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต

               (๒) ความรู้ความสามารถและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน

               (๓) ความรับผิดชอบต่อผู้รับบริการและการรักษาความลับ

               (๔) ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบุคคลหรือนิติบุคคลที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีปฏิบัติหน้าที่ให้

               มาตรา ๔๘ ข้อความใดในสัญญาจ้างสอบบัญชีที่กำหนดให้มีผลเป็นการจำกัดหรือปฏิเสธความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ข้อความนั้นเป็นโมฆะ

               ผู้สอบบัญชีจะรายงานผลการสอบบัญชีโดยระบุข้อความใดอันแสดงว่าตนไม่รับผิดชอบในผลการตรวจสอบ หรือแสดงความไม่ชัดเจนในผลการตรวจสอบเพราะเหตุที่ตนมิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยครบถ้วนที่พึงคาดหวังได้จากผู้สอบบัญชี หรือโดยครบถ้วนตามมาตรฐานการสอบบัญชีมิได้

การกระทำตามวรรคสองถือว่าเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณ

               มาตรา ๔๙ โทษการประพฤติผิดจรรยาบรรณ มีดังต่อไปนี้

               (๑) ตักเตือนเป็นหนังสือ

               (๒) ภาคทัณฑ์

               (๓) พักใช้ใบอนุญาต พักการขึ้นทะเบียน หรือห้ามการประกอบวิชาชีพบัญชีด้านที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณโดยมีกำหนดเวลา แต่ไม่เกินสามปี

               (๔) เพิกถอนใบอนุญาต เพิกถอนการขึ้นทะเบียนหรือสั่งให้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี

               มาตรา ๕๐ ให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณ มีจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ซึ่งคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพบัญชีจากผู้ซึ่งมีความเที่ยงธรรมและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

               (๑) เป็นสมาชิกสามัญ

               (๒) ประกอบวิชาชีพบัญชีมาแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี

               (๓) ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

               (๔) ไม่ดำรงตำแหน่งนายกสภาวิชาชีพบัญชีหรือเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้

               ในกรณีที่เป็นการสมควรให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐและคณะกรรมการจรรยาบรรณได้วินิจฉัยเรื่องเกี่ยวกับการประพฤติผิดจรรยาบรรณโดยมีมาตรฐานเดียวกัน ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพบัญชีขอให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ดูแลเรื่องจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีแต่งตั้งผู้แทนของตนเพื่อเป็นกรรมการจรรยาบรรณตามวรรคหนึ่งได้ ในกรณีนี้ไม่ให้นำความในวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) มาใช้บังคับ

               ให้คณะกรรมการจรรยาบรรณเลือกกรรมการจรรยาบรรณด้วยกันคนหนึ่ง เป็นประธานกรรมการ และจะให้มีผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่คณะกรรมการจรรยาบรรณกำหนดก็ได้

               มาตรา ๕๑ ให้กรรมการจรรยาบรรณมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

               ให้กรรมการจรรยาบรรณซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่ากรรมการจรรยาบรรณใหม่จะเข้ารับหน้าที่

               มาตรา ๕๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการจรรยาบรรณพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

               (๑) ตาย

               (๒) ลาออก

               (๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๐

               (๔) ที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพบัญชีมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุม แต่ต้องไม่น้อยกว่าสองร้อยคะแนนเสียง
               ในกรณีที่ตำแหน่งว่างลงก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีแต่งตั้งกรรมการจรรยาบรรณแทนตำแหน่งที่ว่างไปพลางก่อน และให้กรรมการจรรยาบรรณซึ่งได้รับแต่งตั้งปฏิบัติหน้าที่ได้จนถึงการประชุมใหญ่คราวต่อไป

               มาตรา ๕๓ เมื่อมีผู้กล่าวหาหรือปรากฏต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณว่าผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีหรือผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชีผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณ ให้คณะกรรมการจรรยาบรรณดำเนินการสอบสวนพิจารณาโดยเร็ว

               สิทธิการกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง สิ้นสุดลงเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวหารู้เรื่องการประพฤติผิดจรรยาบรรณและรู้ตัวผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณ ทั้งนี้ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่มีการประพฤติจรรยาบรรณนั้น

               การยื่นคำกล่าวหา การสอบสวน และการพิจารณาเรื่องจรรยาบรรณให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี

               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๒) เรื่อง การพิจารณาเกี่ยวกับจรรยาบรรณ พ.ศ. ๒๕๔๙]

               ในการดำเนินการสอบสวนของคณะกรรมการจรรยาบรรณ คณะกรรมการจรรยาบรรณจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการแทนก็ได้ โดยประกอบด้วยกรรมการจรรยาบรรณอย่างน้อยหนึ่งคนและอนุกรรมการอื่นซึ่งคณะกรรมการจรรยาบรรณแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๐ (๑) (๓) และ (๔) ตามจำนวนที่เห็นสมควร

               คณะกรรมการจรรยาบรรณและคณะอนุกรรมการมีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานใด เพื่อตรวจสอบหรือประกอบการพิจารณา เพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนก็ได้

               เมื่อคณะอนุกรรมการทำการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้เสนอเรื่องพร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณเพื่อพิจารณา

               การถอนเรื่องการกล่าวหาที่ได้ยื่นหรือแจ้งไว้แล้วนั้น ไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๕๔ เมื่อคณะกรรมการจรรยาบรรณพิจารณาจากผลการสอบสวนแล้วมีมติว่าผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณ ให้มีคำสั่งลงโทษผู้นั้นตามมาตรา ๔๙

               ในกรณีที่คณะกรรมการจรรยาบรรณมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้ประพฤติผิดจรรยาบรรณให้สั่งยกคำกล่าวหา

               การออกคำสั่งลงโทษตามวรรคหนึ่งหรือการออกคำสั่งยกคำกล่าวหาตามวรรคสอง ให้แจ้งคำสั่งให้ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

               มาตรา ๕๕ ผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูกคณะกรรมการจรรยาบรรณสั่งลงโทษมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งตามมาตรา ๕๔ ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีกำหนด

               [ดูประกาศคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๙]

               คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีให้เป็นที่สุด

               การอุทธรณ์คำสั่งไม่เป็นการทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งลงโทษ เว้นแต่คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีจะสั่งเป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๕๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการจรรยาบรรณและอนุกรรมการจรรยาบรรณที่คณะกรรมการจรรยาบรรณแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๕๗ กรรมการจรรยาบรรณหรืออนุกรรมการจรรยาบรรณผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องที่ปรึกษาหารือเรื่องหนึ่งเรื่องใด ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณา ปรึกษาหารือ หรือลงคะแนนเสียงในเรื่องนั้น

               มาตรา ๕๘ ให้นำความในมาตรา ๒๖ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการจรรยาบรรณและคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณโดยอนุโลม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น