วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บทความที่ 3 ธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์

ในทางพระพุทธศาสนาจิตเดิมแท้นั้น ประภัสสร ความไม่ดีนั้นจรมาเหมือนมลภาวะ ในทางตะวันตกนั้นคิดตรงกันข้ามคือ คิดว่าพื้นฐานของมนุษย์นั้นเลวร้าย เห็นแก่ตัว ก้าวร้าวทำลาย ทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ รวมทั้งของฟรอยด์อยู่บนทฤษฎีเกี่ยวกับพื้นฐานอันเป็นลบของมนุษย์
ในระยะหลัง หลักฐานต่างๆ สนับสนุนมากขึ้นทุกทีว่า ธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์คือความเมตตากรุณา ความคิดทางตะวันตกเริ่มเปลี่ยนแปลง






จริงๆ แล้ว มนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีซ่อนอยู่ในหัวใจ ที่บางคนก็เรียกว่าเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิ ถ้าเราคิดว่าพื้นฐานของมนุษย์คือความเลวร้าย เราจะรู้สึกหดหู่ และมองไม่เห็นความหวัง แต่ถ้าคิดว่ามนุษย์มีธรรมชาติพื้นฐานเป็นความดี เราจะมีกำลังใจและมองเป็นความหวัง ถ้ามนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ถ้ามีการรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยให้ถูกต้อง เมล็ดพันธุ์นี้ก็จะงอกและเติบโตแผ่ไพศาลได้
วิธีการที่จะส่งเสริมศีลธรรม คือการกระตุ้นธรรมชาติเดิมแท้ อันเป็นธรรมชาติแห่งความดีให้เติบโตขึ้น “ศูนย์คุณธรรม” ในสมองของมนุษย์ ต้องโตอย่างได้ดุลกับ “ศูนย์ความเก่ง”
มนุษย์เราในปัจจุบันนี้แสดงนิสัย ตามธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการปลูกฝังมาตั้งแต่เกิด บางคนเลือกที่จะกระทำดี บางคนเลือกที่จะกระทำชั่ว สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทั้งนั้น ความเสื่อมทางศีลธรรมเกิดจากสมองเสียสมดุล
วิถีคิดของมนุษย์ในครั้งโบราณนั้น เป็น วิถีคิดเชิงศีลธรรมซึ่ง เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะมนุษย์ทุกหนทุกแห่งค้นพบว่า การอยู่ร่วมกันทำให้โอกาสที่จะรอดชีวิตมีมากกว่าอยู่เดี่ยวๆ มนุษย์ตั้งแต่ยุคล่าสัตว์ก็ดี หรือในยุคเกษตรกรรมก็ดี มีวิถีชีวิตแบบอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นชุมชน วัฒนธรรมก็ดี ศาสนธรรมก็ดี การศึกษาก็ดี ล้วนเป็นเรื่องการอยู่ร่วมกันหรือศีลธรรม
วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ
ศาสนธรรม ทุกหนทุกแห่งล้วนสอนเรื่องวิธีคิด และการประพฤติปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกัน ไม่มีเลยที่สอนให้ตัวใครตัวมัน หรือสอนให้แก่งแย่งทอดทิ้งกัน หรือแข่งขันกันอย่างเสรี
การศึกษา ก็ศึกษาอยู่ในฐานวัฒนธรรม และศาสนธรรม ฉะนั้นจึงเป็นการเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน
ฉะนั้น จึงกล่าวว่า ตลอดมาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มนุษย์มีวิถีคิดเชิงศีลธรรม
เพิ่งไม่นานมานี้เองที่มนุษย์เปลี่ยนวิถีคิดใหม่ ไม่ใช้การอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง แต่ไปใช้อย่างอื่นแทน ลองมาดูว่าวิถีคิดใหม่นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมันคืออะไร
แต่เดิมมนุษย์สร้างความรู้ในวิถีชีวิต และวิถีชีวิตร่วมกันคือวัฒนธรรม ฉะนั้นจึงเรียกว่ามนุษย์สร้างความรู้ และเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรม ต่อมามนุษย์โดยเฉพาะในยุโรป มีวิธีคิดเชิงเหตุผลที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ สามารถสร้างความรู้ที่คม-ชัด-ลึก อันมีเสน่ห์มาก และสามารถเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสร้างเทคโนโลยีที่มีความวิเศษมหัศจรรย์ และทรงฤทธิ์ ประดุจอิทธิปาฏิหาริย์ ผู้ที่เป็นเจ้าของความรู้และเทคโนโลยีอันทรงฤทธิ์เกิดมีอำนาจขนาดใหญ่ที่ มนุษย์ไม่เคยมีมาก่อน และได้ใช้อำนาจนั้นสร้างอำนาจทางอาวุธและอำนาจเศรษฐกิจ ของตัวเองโดยรุกรานและเอาเปรียบผู้อื่น และพยายามอย่างได้ผลในการสถาปนาวิถีชีวิตใหม่แห่งการคิดถึงตัวเอง เอาเปรียบแย่งชิงผู้อื่น เป็นวิถีคิดเชิงอำนาจนิยมเงินนิยม ไม่ ใช่วิถีคิดเชิงศีลธรรมอีกต่อไป วิถีคิดใหม่ที่ไม่ใช่ศีลธรรมได้ไปก่อโครงสร้างใหม่และพฤติกรรมใหม่ในรูปโครง สร้างของรัฐ โครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างทางวิชาการ โครงสร้างทางการศึกษา โครงสร้างทางการสื่อสาร
โครงสร้างอีกโครงสร้างหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือ โครงสร้างทางสมอง
ถ้าเราทำสิ่งใดซ้ำๆ ส่วนของสมองที่ควบคุมพฤติกรรมนั้นจะโตขึ้นและทำงานมากขึ้น นิสัยและความเคยชินต่างๆ ก็มีวงจร (circuits) ของนิสัยนั้นๆ เกิดขึ้นในสมอง
ในสมัยเมื่อมนุษย์มีวิถีชีวิตร่วมกัน ที่กล่าวถึงวิถีคิดเชิงวัฒนธรรมและศาสนธรรม หรือวิถีคิดเชิงศีลธรรมนั้น แน่นอนทีเดียว ส่วนของสมองที่เป็นโครงสร้างของการคิดทางศีลธรรมจะต้องโตและทำงานมาก อาจจะเรียกว่า ศูนย์ศีลธรรมใน สมอง แต่ต่อมาเมื่อมนุษย์เปลี่ยนวิถีคิดมาเป็นแบบคิดเชิงเหตุผลหรือวิทยาศาสตร์ ความคม-ชัด-ลึก ทำให้ตัดขาด ตัดขาดจากความคิดเชิงศีลธรรม จึงเข้าไปสู่วิถีคิดเชิงอำนาจนิยม เงินนิยม ศูนย์การคิดในสมอง ซึ่งเป็นศูนย์แห่งเหตุผลนิยม อำนาจนิยม เงินนิยม ก็เติบโตขึ้นเหนือศูนย์ศีลธรรม สมองของมนุษย์ก็ไม่ได้สมดุลอีกต่อไป โดยมี ศูนย์เก่งใหญ่กว่า ศูนย์ศีลธรรมการคิดเชิงศีลธรรมจึงลดน้อยถอยลง
ปัญหาทางศีลธรรมของมนุษยชาติในปัจจุบันจึงรุนแรงมาก เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างในวิถีคิด โครงสร้างทางสังคม และโครงสร้างทางสมอง
แม้ปัญหาจะรุนแรงมาก เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าว แต่ไม่ได้หมายความว่าหมดหวัง ความหวังอยู่ที่ธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น